สรุปดราม่าจั๊กจั่น อคัมย์สิริ ทันทีที่มีข่าวดาราโลกใบที่ 2 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกษตรกรสายเผือกชาวสยามก็หอบจอบหยิบเสียมขุดกันตั้งแต่หัววันยันรุ่ง จนกระทั่งเรื่องจบลงแบบหักมุมราวกับหนังพิศวาสฆาตกรรม ในที่สุดตัวละครที่ชักใยอยู่เบื้องหลังเรื่องวุ่นวายทั้งหมดก็คือผู้จัดการที่ จั๊กจั่น-อคัมย์สิริ สุวรรศุข สนิทชิดเชื้อราวกับญาติจนเรียกว่า ‘อา’ ตามมาด้วยวีรกรรมอีกมากมายที่เคยก่อกรรมไว้กับดาราท่านอื่นๆ ว่ากันว่าสงครามยังไม่จบอย่างเพิ่งนับศพทหาร ผู้เขียนเองติดตามเรื่องนี้เกือบ 2 สัปดาห์ รอเวลาที่ทุกอย่างได้ข้อสรุปเพื่อหาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากข่าวบันเทิง ที่ใครก็บอกว่าเป็น ‘เรื่องชาวบ้าน’ ไร้สาระ แต่จริงๆ มันก็มีสาระซ่อนอยู่
สรุปดราม่าจั๊กจั่น อคัมย์สิริ
ดารากับราคาความน่าเชื่อถือ
ยอมรับเสียดีๆ ว่าสังคมไทยเชื่อดารามากกว่านักการเมือง (ซึ่งดาราก็พูดความจริงมากกว่านักการเมืองจริงๆ) ดังนั้นเมื่อ บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี พูดเรื่องดาราโลกใบที่ 2 แม้จะไม่ใช่ผู้เปิดประเด็น แต่เพราะความเป็นคนดังย่อมมีคนเชื่อไปแล้วครึ่งใจ ยิ่งไปกว่านั้นยังยืนยันมั่นเหมาะว่ารู้จักชื่อของโลกใบที่ 1 ไปอีก มันย่อมกำหนดทิศทางความเข้าใจของคนในสังคม อันที่จริงก็ค่อนข้างจะเห็นใจคุณบุ๋ม เพราะหลักฐานเท็จต่างๆ ที่ผู้จัดการสร้างขึ้นก็ดูมีความเป็นไปได้อยู่ แต่ขอตำหนิสักนิดว่าในเมื่อรับข้อมูลจากแหล่งข่าวได้ แต่ทำไมไม่ลองยกหูสอบถามคนต้นเรื่องที่กำลังจะเสียหายจากเรื่องนี้บ้าง ดังนั้นเมื่อเรื่องราวออกมาโอละพ่อแบบนี้ มันก็ย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย
ธรรมชาติของข่าวบันเทิง ลำพังแค่พูดเรื่องงานก็คงจะน่าเบื่อเกินไป และในฐานะที่ดาราเป็นบุคคลสาธารณะ ‘เรื่องส่วนตัว’ ของดาราจึงน่าสนใจและขายได้เสมอ ดังนั้นเมื่อได้รับข้อมูลที่มี ‘ประเด็น’ เป็นใครก็ต้องรีบคว้าไว้ ยิ่งในยุคที่ต้องว่องไวและการแข่งขันสูงแบบนี้ด้วย ก็อาจจะลืมเช็กข่าวให้รอบด้านเสียก่อน ผู้เขียนเองก็เคยคลุกคลีกับนักข่าวบันเทิงรุ่นเก่ามาบ้าง หลายท่านสอนว่าเรื่องไหนที่คิดว่าจะเสียหาย ก็มักจะแอบถามไปที่ผู้เกี่ยวข้องว่าเรื่องนั้นมีมูลความจริงหรือไม่ก่อนตีพิมพ์ ทำให้นักข่าวบันเทิงกับดาราเป็นวงการที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยมาตลอด
อีกเรื่องก็คือท่าทีในการอ่านข่าว ตรงนี้ต้องชมคุณบุ๋ม เพราะเมื่อเรื่องราวลุกลามใหญ่โต เธอก็สงวนท่าที ไม่ได้ใส่ดีกรีการเมาท์เผ็ดร้อน จะออกแนวเห็นใจผู้หญิงด้วยกันมากกว่า ผู้เขียนก็อยากฝากไปถึงรายการข่าวบันเทิงตระกูลแซ่บทั้งหลาย ถ้ายังไม่มั่นใจ 100 % ใส่พริกแค่ 5 เม็ดก็พอ เดี๋ยวแซ่บเกินไปสุดท้ายจะเสาะท้อง… นะน้องนะ
ผู้จัดการดาราต้องเป็นมืออาชีพ
งานผู้จัดการดาราเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ความเป็นมืออาชีพอย่างมาก ถ้าใครเคยคิดว่าผู้จัดการดาราทำแค่ถือกระเป๋า รับโทรศัพท์ จัดคิวงาน พ่วงมาด้วยการได้ใช้ชีวิตหรูหรามีอภิสิทธิ์เพราะต้องตามติดดาราไปทุกๆ ที่ นั่นคือผิดถนัด
คนที่เข้าวงการใหม่ๆ ก็มักจะใช้พ่อแม่ ญาติสนิทคอยดูแล แต่การเป็นคนดังก็เหมือนนักกีฬา คือต้องมีโค้ชผลักดันให้มีชื่อเสียงยิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับผู้เขียนคิดว่าอาชีพผู้จัดการดาราเริ่มมีการจัดการอย่างเป็นระบบก็ในยุคของปิ๊ก-ฌาณฉลาด ทวีทรัพย์ และ เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร นี่เอง เราเริ่มเห็นการเทรนนิ่งว่าสิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควรทำ วางกลยุทธ์สร้างภาพลักษณ์ศิลปินในสังกัดว่าควรเป็นอย่างไร รวมทั้งผลักดันให้มีผลงานในระดับอินเตอร์เลยก็มี และเมื่อคนที่ดูแลโด่งดังมีชื่อเสียง ก็ต้องใช้ทักษะในการเลือกรับงานที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ รู้จักสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชน และมองหาลูกค้าผลิตภัณฑ์เพื่อรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากนั้นก็ต้องบริหารทุกอย่างให้สมดุล ไม่ให้เกิดข้อครหาว่าหน้าเงิน ไม่แคร์สื่อ หรือเลือกรับงานไม่มีระดับ เป็นต้น เรียกว่าผู้จัดการดารายุคใหม่สร้างโลกทั้งใบให้นายหรือเธอคนเดียวเลยก็ว่าได้
หน้าที่ของผู้จัดการดารายังลงรายละเอียดลึกไปถึงเรื่องอื่นๆ ทั้งจะกิน จะนอน จะโพสท่าไหนดี มุมไหนหล่อ มุมไหนสวย หรือสภาพจิตใจของคนที่ดูแลสุข เศร้า เหงา รัก ก็ล้วนแต่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เอาเป็นว่า 24 ชั่วโมงของผู้จัดการดารา แทบจะทุ่มไปให้กับคนที่ดูแลแบบที่รู้จักตัวเขามากกว่าที่เขารู้จักตัวเองเสียอีก ซึ่งก็อาจทำให้คิดไปเองว่าโลกของเขาและโลกของเราคือโลกใบเดียวกัน
กลับมาที่กรณีของผู้จัดการจั๊กจั่น ผู้เขียนคิดว่ามาจากลักษณะนิสัยไม่ปกติของตัวบุคคลเป็นหลัก อีกส่วนก็คือความผูกพันที่อ้างว่าเป็นความห่วงใยจนทำให้ล้ำเส้น จากแค่ดูแล ลุกลามกลายเป็นความหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เพราะก่อนหน้านี้ก็บอกไปซ้ายไปขวามาได้ตั้ง 15 ปี วันหนึ่งเมื่อถูกลดบทบาทเลยต้องทำทุกทางที่จะรักษาอำนาจเดิมไว้ กลายเป็นทำร้ายคนที่ตัวเอง (อ้างว่า) รักไปในที่สุด นี่ไม่ใช่เคสแรก เพราะก่อนหน้านี้พระเอกระดับท็อปของเมืองไทยตอนเข้าวงการใหม่ๆ ก็เคยมีผู้จัดการที่ชอบแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แล้วป่วนไปทุกกองถ่าย จนกระทั่งกลายเป็นข่าว โชคดีที่ผู้บริหารรีบเปลี่ยนผู้จัดการก่อนทุกอย่างจะลุกลาม ซึ่งหลังจากนั้นพระเอกคนนี้ก็กลายเป็นที่รักและดังขึ้นแบบพรวดพราดเลยทีเดียว ดังนั้น การได้ผู้จัดการที่เป็นมืออาชีพถือว่าสำคัญมากสำหรับดาราในยุคนี้
จะหอนกี่ครั้งก็ยังรักเธอ
รักเพื่อนต้องเตือนเพื่อนเมื่อใช้รองพื้นผิดเบอร์ฉันใด เมื่อคิดว่าเพื่อนจะหลงเดินทางผิดก็ต้องเตือนเพื่อนฉันนั้น แต่ถ้าเตือนแล้วเพื่อนไม่ฟังก็คงต้องปล่อยให้มันอับอายเพราะรองพื้นไม่เข้ากับสีผิวไป ไม่ใช่เป็นคนที่สร้างความอับอายให้กับเพื่อนเสียเอง อย่างกรณีของ นก-อุษณีย์ วัฒฐานะ ความหวังดีมันแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ จนกลายเป็นการประชดประชัน แล้วลืมไปว่าคนที่จะทุกข์ใจที่สุดก็คือคนที่เราคิดว่าหวังดีกับเขานั่นแหละ จากวันดีๆ ที่คุณนกเองก็น่าจะได้ยินเคียงข้างเป็นเพื่อนเจ้าสาว มาถึงตรงนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะสู้หน้าไปร่วมงานแต่งงานหรือไม่ เป็นเรื่องน่าเสียดายนะที่เราพลาดไปอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของเพื่อนสนิท เพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ
มีออกบ่อยไปที่เราต้องกลายเป็นหมาจากเรื่องดราม่าของเพื่อน เตือนก็แล้ว บอกก็แล้วยังไม่ฟัง ทางที่ดีที่สุดก็คือปล่อย ขนาดตัวเราเองบางวันยังห้ามตัวเองไม่ได้ นับประสาอะไรจะไปห้ามคนอื่น ถึงหงุดหงิดขุ่นเคืองแค่ไหนก็คงต้องเก็บไว้ในใจ รอวันที่มันซมซานกลับมาให้เราทุบหลังเบาๆ แล้วบอกว่า “เห็นไหม… กูบอกแล้ว แต่ช่างมันเถอะ ยังไงมึงก็ยังมีกูนะ บรู๊วววววว”